วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

One Belt One Road : เส้นทางสายไหม

One Belt One Road : เส้นทางสายไหม


เส้นทางสายไหมโบราณ


           เมื่อ 2000 กว่าปีมาแล้ว จาง เชียน (Zhang Qian) ทูตของราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น นำคณะเดินทางไปยังดินแดนแถบเอเชียกลาง การเดินทางของจาง เชียน ทำให้เกิดเครือข่ายเส้นทางการค้า เรียกว่า “เส้นทางสายไหม” ที่เชื่อมโยงจีนกับดินแดนที่ปัจจุบันประกอบด้วย คาซักสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีสถาน เตอร์กเมนิสถาน และอัฟกานิสถาน รวมทั้งปากีสถาน

         
           คลื่นลูกที่ 1 ของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์จึงเกิดขึ้นครั้งแรกในดินแดนเอเชียกลาง ที่เป็นจุดศูนย์กลางของการค้าระหว่างตะวันออกกับตะวันตก การติดต่อทางการค้าทำให้เกิดความมั่งคั่งติดตามมา รวมทั้งความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและศาสนา จีนส่งออกสินค้าพวกผ้าไหม เครื่องเทศ และหยก และนำเข้าสินค้าพวกทอง โลหะมีค่า งาช้าง และเครื่องแก้ว ชื่อของเส้นทางการค้าจึงมาจากผ้าไหมที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและส่งออกสำคัญของจีน ทุกวันนี้ จาง เชียน กลายเป็นวีรบุรุษของจีน เพราะเป็นคนแรกที่บุกเบิก และเปิดประเทศจีนกับการค้าโลก

           ในศตวรรษที่ 13 และ 14 พวกมองโกลขยายอาณาจักรเข้ามาแถบเอเชียกลาง ทำให้การค้าตามเส้นทางสายไหมหยุดชะงักลงไป ในปี ค.ศ. 1405 เจิ้ง เหอ (Zheng He) ผู้บัญชาการทหารเรือจีนในสมัยราชวงศ์หมิง นำกองเรือหลายร้อยลำและลูกเรือ 27,000 คน ออกเดินทางสำรวจทางทะเล จากจีนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันตก แอฟริกาตะวันออก และคาบสมุทรอาหรับ การเดินเรือของเจิ้ง เหอ แล่นไปตามแนวเส้นทางทะเล ที่เคยเป็นเส้นทางการค้าระหว่างคาบสมุทรอาหรับกับจีน นับจากศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา การค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปก็เปลี่ยนมาอาศัยเส้นทางทะเลแทน

เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21


           ที่ผ่านมา คนทั่วโลกไม่ค่อยสนใจโครงการ One Belt, One Road (OBOR) หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 ที่ริเริ่มโดยจีน เพราะโครงการเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน ความคืบหน้าจึงมีไม่มาก แต่การประชุมสุดยอด OBOR เมื่อ 14-15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้คนทั่วโลกหันมาสนใจกับโครงการนี้ เพราะอยากจะรู้ว่า จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำที่ส่งเสริมการค้าโลกโดยชักจูงผู้นำประเทศต่างๆ มาเข้าร่วมประชุมได้มากน้อยเพียงไร ในยามที่สหรัฐอเมริกาในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ หันไปยึดนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน”

           ประการที่ 2 โครงการ OBOR ดำเนินไปแล้ว 3 ปีกว่าหลังจากที่จีนประกาศเปิดตัวโครงการครั้งแรก การประชุมระดับสุดยอดของผู้นำประเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็น ไม่เพียงแค่การประเมินเป้าหมายเหตุผลของโครงการ OBOR แต่ยังรวมถึงการประเมินความสำเร็จและผลกระทบของโครงการต่อประเทศที่เกี่ยวข้อง เพราะ OBOR เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่มีขนาดใหญ่มาก โครงการมาร์แชลของสหรัฐฯ คิดมูลค่าในปัจจุบัน 130 พันล้านดอลลาร์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีขนาดแค่ 1 ใน 11 ของ OBOR เท่านั้น
         
           ในเดือนกันยายน 2013 สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในช่วงไปเยือนคาซักสถาน แถลงเปิดตัวครั้งแรกถึงการริเริ่มโครงการ “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ที่ประกอบด้วยเครือข่ายถนนและเส้นทางรถไฟ เชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเอเชียกลางในเดือนตุลาคม ต่อมา เมื่อไปเยือนอินโดนีเซีย สี จิ้นผิง กล่าวเปิดตัวโครงการ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ที่เชื่อมท่าเรือจีนกับท่าเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป ตลอดเส้นทางบกและเส้นทางทะเล จะมีการลงทุนปรับปรุงท่าเรือ และสร้างศูนย์การผลิตอุตสาหกรรมและการค้าขึ้นมา

           โครงการเครือข่ายเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลนี้มีชื่อเรียกอยู่หลายอย่าง เช่น การริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) หรือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) โครงการเส้นทางบกมีชื่อเป็นทางการว่า “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt: SREB) ส่วนเส้นทางมหาสมุทร เรียกว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime Silk Road) เมื่อสี จิ้นผิง เองกล่าวถึงโครงการนี้โดยรวมจะใช้คำในภาษาจีนว่า “yi dia yi lu” ที่หมายถึง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

           ภายใต้นโยบาย “OBOR” ของจีนนั้น ไม่เพียงจะปลุกชีพเส้นทางสายไหมในอดีต ยังได้ผนวกเอาเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) เข้ามาด้วย โดย Silk Road ทางบกนั้นประกอบไปด้วย 6 เส้นทางคือ (1) เส้นทางยูเรเซีย (Eurasia) จากตะวันตกจีนไปถึงตะวันตกของรัสเซีย (2) เส้นทางจีน-มองโกเลีย-รัสเซียตะวันออก (3) เส้นทางตะวันตกจีน-เอเชียกลาง-ตุรกี (4) เส้นทางจีน-แหลมอินโดจีน-สิงคโปร์ (5) เส้นทาง จีน-ปากีสถาน และ (6) เส้นทางจีน-พม่า-บังกลาเทศ-อินเดีย

           เส้นทางสายไหมทางบกนั้น จะอาศัยการขนส่งระบบรางและรถไฟความเร็วสูงเป็นหลัก ผ่านตลาดการค้าและการลงทุนสำคัญๆ ได้แก่ คาซัคสถาน อิหร่าน ตุรกี สู่เมืองท่าการค้าและอุตสาหกรรมสำคัญๆในยุโรป อาทิ แฟรงก์เฟิร์ต เวนิส และอัมสเตอร์ดัม

           ขณะที่เส้นทางสายไหมทางทะเลนั้น เริ่มต้นจากเมืองท่าสำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ฟุโจว ลงมาทะเลจีนใต้ มายังกลุ่มอาเซียนข้ามช่องแคบมะละกาเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย สู่ตะวันออกกลาง บางส่วนของเส้นทางผ่านแอฟริกาตะวันตก ผ่านอ่าวเปอร์เซียเข้าสู่คลองสุเอซเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมุ่งหน้ายังยุโรป เชื่อมทางสายไหมทางบก

           เมื่อร้อยเส้นทางสายไหมใหม่ ตามยุทธศาสตร์ที่ผู้นำจีนป่าวประกาศที่นัยว่าจะครอบคลุมพื้นที่ใน 65 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 4,500 ล้านคน หรือกว่า 62% ของประชากรโลก มีสัดส่วนจีดีพีรวมกันกว่า 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯหรือกว่า 1 ใน 3 ของจีดีพีของโลกเลยทีเดียว

           มีการคาดการณ์กันด้วยว่า การปลุกชีพเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ จะมีการลงทุนมหาศาลมากกว่า 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยผู้นำจีนได้ประกาศทุ่มงบกว่า 124,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯเป็นกองทุนสำหรับสนับสนุนการลงทุนเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ ในรูปแบบที่จะเปิดกว้างในการเจรจาในแต่ละประเทศด้วย


 เป็น “Big Think” ที่ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่อาจจะนิ่งเฉยอยู่ได้ รวมทั้งประเทศไทย!!!


5 สิ่งที่จะเปลี่ยนไปในปี 2017 ภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่

1. เส้นทางสายไหมที่เป็นรูปธรรมขึ้น


           ความเปลี่ยนแปลงแรกก็คือตัวโครงการ OBOR เอง หลังจากถูกวิจารณ์มานานว่าเส้นทางสายไหมใหม่เป็นเพียงโครงการขายฝัน เป็นคำพูดสวยหรูของจีนบังหน้าการเข้าไปมีอิทธิพลเหนือประเทศกำลังพัฒนาที่เล็กกว่า โดยเฉพาะจากบรรดานักการเมืองยุโรป ที่เคยชินกับโครงการที่เขียนอย่างรัดกุม มีโครงสร้างและกรอบเวลาชัดเจน การประชุมนานาชาติที่เพิ่งจบไปที่ปักกิ่ง มีการวางโครงสร้าง OBOR ที่เป็นรูปธรรมขึ้น และมีการให้คำมั่นสัญญาที่ชัดเจนขึ้นจากผู้นำแต่ละประเทศ ว่าจะร่วมมือกับจีนในโครงการนี้

2. เมกะโปรเจ็คย่อยผุดทั่วเอเชีย-แอฟริกา

            ในขณะที่ปี 2016 เป็นปีแห่งการเจรจาเมกะโปรเจ็คต่างๆในเส้นทางสายไหมใหม่ ระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ปี 2017 จะเป็นปีที่น่าจะได้เห็นโครงการเหล่านี้เริ่มก่อสร้างเสียที เช่นท่าเรือน้ำลึกอนัคเลียในทะเลดำ จอร์เจีย และทางรถไฟบากู-ทบิลิซี เชื่อมต่อเมืองหลวงของอาเซอร์ไบจันกับเมืองหลวงของจอร์เจีย หรือโครงการที่ก่อสร้างไปแล้ว ก็จะเห็นความคืบหน้ามากขึ้น เช่นท่าเรือน้ำลึกที่กวาดาร์ หัวใจสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน หนึ่งในเสาหลักของ OBOR

3. ยุโรปจะเข้าร่วมเส้นทางสายไหมใหม่เต็มตัวขึ้น

            ในการประชุมผู้นำนานาชาติว่าด้วยโครงการเส้นทางสายไหมใหม่เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปรับปากสนับสนุน OBOR อย่างเต็มที่ แม้รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ที่เข้าร่วมการประชุมด้วย จะยังกังขาในความโปร่งใสของ OBOR และเรียกร้องให้จีนการันตีว่าจะสนับสนุนการค้าเสรีมากกว่านี้ก็ตาม ส่วนภาคเอกชนในยุโรป ต่างก็ตื่นตัวกับเส้นทางรถไฟเชื่อมยุโรป-จีนอย่างมาก หลังจากขบวนรถไฟอี้อู-ลอนดอน เปิดให้บริการไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากทางรถไฟนี้ได้พิสูจน์ว่าทางสายไหมใหม่ไม่ใช่แค่ช่องทางนำของถูกจากจีนมาทุ่มใส่ตลาดยุโรป แต่ยังเป็นช่องให้สินค้าราคาแพงจากยุโรปเจาะเข้าตลาดจีนและเอเชียที่กำลังเติบโตได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ รถยนต์ และสินค้าแบรนด์เนม

4. รัสเซียถูกจีน-ยุโรปค้าขายข้ามหัว

           แม้ว่าเส้นทางสายไหมทางบกจากจีนไปยังเอเชียกลางและยุโรป จะถูกลากผ่านกรุงมอสโกของรัสเซียด้วย แต่ก็ไม่จำเป็นที่ขบวนคาราวานสินค้าจะต้องวกขึ้นเหนือไปถึงรัสเซีย เมื่อเส้นทางทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ จีนสามารถจยสินค้าไปยังยุโรปโดยผ่านตุรกีและประเทศแถบคอร์เคซัสใต้ เมื่อการคว่ำบาตรกันระหว่างยุโรปและรัสเซียยังดำเนินอยู่อย่างน้อยจนสิ้นปีนี้ การค้าระหว่างยุโรปกับจีนก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นโดยผ่านเส้นทางสายไหมใหม่ ทำให้รัสเซียถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ


5. แผนพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น สอดประสานกันมากขึ้น

           แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มหาอำนาจหลายประเทศจะพยายามผลักดันเขตอิทธิพลทางการค้าในภูมิภาคตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแผนเชื่อมโยงเอเชียกลางของอินเดีย การอัดฉีดเงินเข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอาเซียนโดยญี่ปุ่น หรือ EEC สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียที่รัสเซียผลักดันเพื่อคงอิทธิพลในประเทศอดีตสหภาพโซเวียต แต่สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดจะสอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้เส้นทางสายไหมใหม่ ที่เป็นโครงการใหญ่ครอบคลุมทุกๆโครงการที่กล่าวมาทั้งหมด

ผลกระทบจาก One BeltOne Road ต่อประเทศไทย


          นโยบาย One Belt One Road ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง แต่หากพิจารณาตามเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 จะพบว่าตลอดเส้นทางการค้าสายนี้ทั้งทางบกและทางน้ำ ไม่ผ่านประเทศไทยเลย หากแต่เชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในทางภูมิศาสตร์ ไทยถือเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ จึงกล่าวได้ว่าผลกระทบต่อไทยที่เกิดจากนโยบาย One Belt One Road เป็นผลกระทบทางอ้อม แต่ก็ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ และมิติทางสังคม วัฒนธรรม


มิติทางเศรษฐกิจ

           การที่จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคอาเซียนและการสร้างเครือข่ายเชื่อมต่อของท่าเรือต่างๆตามเส้นทางสายไหมทางทะเลในขณะที่ไทยคือศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนั้นไทยจึงควรอาศัยความได้เปรียบนี้ผลักดันตนเองให้เป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าระหว่างภูมิภาคอาเซียนและจีนรวมถึงภูมิภาคอื่นๆ

           ในส่วนของเส้นทางการค้าทางทะเลจีนมีทางออกติดทะเลเพียงด้านเดียวดังนั้นจีนจึงอาศัยแนวคิด Maritime Silk Road เป็นการปกป้องเส้นทางการค้าทางทะเลของตน โดยร่วมมือกับประเทศที่เป็นทางผ่าน ซึ่งบางประเทศในอาเซียนอย่างเวียดนาม และฟิลิปปินส์ที่กำลังมีข้อพิพาทกับจีนในเรื่องของการรุกล้ำอธิปไตยทางทะเล ส่งผลให้ทั้งสองประเทศนี้ไม่ใคร่จะยอมรับแนวคิด Maritime Silk Road ของจีนเท่าใดนัก ซึ่งอาจเป็นโอกาสของไทยในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ในฐานะที่ไทยเป็นส่วนสำคัญของภูมิภาคอาเซียน และไม่มีข้อพิพาทใด ๆ กับจีน

            การจัดตั้ง AIIB ของจีนส่งผลกระทบทางบวกต่อไทยในด้านของการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการผลักดันให้สกุลเงินหยวนเป็นอีกหนึ่งเงินสกุลหลักในเวทีการค้าระหว่างประเทศจะส่งผลบวกต่อไทยในแง่ของความหลากหลายในตลาดเงินระหว่างประเทศซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนและกระจายความเสี่ยงในตลาดเงินอย่างไรก็ตามเมื่อเงินหยวนกลายเป็นหนึ่งสกุลเงินหลักในเวทีการค้าโลกย่อมส่งผลต่อรูปแบบการค้าระหว่างไทยและจีน ดังนั้นไทยจำต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย


มิติทางสังคม วัฒนธรรม


           ไทยและจีนถือได้ว่ามีการเชื่อมโยงทางเชื้อสายและวัฒนธรรมอันดีต่อกัน ความได้เปรียบนี้ย่อมส่งผลบวกต่อหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมด้านความบันเทิง อุตสาหกรรมด้านการศึกษา เป็นต้น 

           โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านการศึกษาของไทยได้รับผลกระทบทางบวกจากการที่รัฐบาลจีนมีนโยบายให้การสนับสนุนชาวจีนเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศด้วยการให้สิทธิของการสมัครเป็นพลเมืองของเมืองใหญ่ๆของจีนหลังจากที่จบการศึกษาและกลับมาทำงานที่ประเทศตน ซึ่งอุดมศึกษาของไทยถือเป็นแหล่งที่ชาวจีนให้ความสำคัญในอันดับต้น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น